วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 5

ประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5
( พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ) ( 01/10/2411-23/10/2453 )


รัชกาลที่ 5 มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ” เป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 4 
กับ สมเด็จพระเทพ ศิรินทราบรมราชินี (พระองค์เจ้ารำเพยภมาภิรมย์) ประสูติเมื่อ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษาได้รับการสถาปนาเป็น กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ 

เมื่อพระชนมายุได้ 15 พรรษา เลื่อนขึ้นเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ พระองค์ได้รับการศึกษาวิชาการต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณี ด้านอักษรศาสตร์ ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับนางลิโอโนเวนส์ ชาวอังกฤษ ต่อมาศึกษากับ หมอจันดเล ชาวอเมริกันครั้นเสวยราชแล้ว ยังศึกษากับนายแปตเตอร์สัน อีก 

พระองค์ เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ 1 ตุลาคม 2411 ขณะทรงมีพระชนมายุย่าง 16 พรรษา นับเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ วรุตมพงษบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรม มหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร)

เสด็จ สวรรคตเมื่อ 23 ตุลาคม 2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา อยู่ในราชสมบัตินาน 42 ปี ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 77 พระองค์




 พระราชลัญจกร เป็นรูปพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี บนพานแว่นฟ้า
เป็นสัญลักษณ์ของ พระบรมนามาภิไธย    "จุฬาลงกรณ์"
มีฉัตรตั้งขนาบข้าง ริมขอบสองข้าง มีแว่นสุริยกานต์ข้างหนึ่ง กับสมุด
ตำราข้างหนึ่งวางอยู่บนพานแว่นฟ้า



ด้านการปกครอง
ในระยะแรก พระองค์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยงวศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และได้สถาปนาโอรสองค์ใหญ่ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า เจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล นามว่า กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ 

เมื่อพระองค์บรรลุนิติภาวะแล้ว ได้ผนวชอยู่ในสมณเพศ 15 วัน จึงลาสิกขาบทออกมาประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2416 จากนั้นทรงรับผิดชอบบริหารประเทศ โดยสิทธิ์ขาด มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินดังนี้

ตั้งสภาแผ่นดิน 2 สภาได้แก่
1. รัฐมนตรีสภา Council of State 
ประกอบ ด้วยขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ ชั้นเจ้าพระยาทั้งหมด 12 คน มีพระองค์ท่านเป็นประธาน รัฐมนตรีสภามีหน้าที่ถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดิน รวมทั้งพิจารณาพระราชบัญญัติ พระราชกำหนดกฎหมายต่าง ๆ ด้วย เหมือนสภานิติบัญญัติในปัจจุบัน
 
2. องคมนตรีสภา Privy Council 
ประกอบ ด้วยสมาชิก 49 คน มีเชื้อพระวงศ 13 พระองค์ ทำหน้าที่เป็นสภา ที่ปรึกษา ราชการในพระองค์และมีหน้าที่ปฏิบัติราชการแผ่นดินตามแต่จะมีพระราชดำรัส

ปฏิรูปองค์การบริหารในส่วนกลางใหม่ดังนี้
เดิมมีอยู่ 6 กรม ได้แก่ กรมมหาดไทย กรมกลาโหม กรมเมือง กรมวัง กรมท่า และกรมนา
ตั้งขึ้นใหม่ 6 กรม ได้แก่ กรมพระคลัง กรมยุติธรรม กรมธรรมการ กรมโยธาธิการ กรมยุทธนาธิการ และ กรมมุรธาธร รวมเป็น 12 กรม ต่อมายกฐานะขึ้นเป็นกระทรวง ภายหลังได้ยุบกระทรวงยุทธนาธิการเข้ากับ กระทรวงกลาโหม และ กระทรวงมุรธาธรรวมเข้ากับกระทรวงวัง คงเหลือ 10 กระทรวงดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย
2. กระทรวงกลาโหม
3. กระทรวงนครบาล
4. กระทรวงการต่างประเทศ
5. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
6. กระทรวงวัง
7. กระทรวงเกษตราธิการ
8. กระทรวงยุติธรรม
9. กระทรวงโยธาธิการ
10. กระทรวงธรรมการ

กระทรวงต่าง ๆ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือรวมทั้งหัวเมืองประเทศราศทางเหนือ
2. กระทรวงกลาโหม มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ กรมทหารเรือ กรมช้าง กรมแสง
3. กระทรวงการต่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่จัดการเรื่องเกี่ยวกับการต่างประเทศ
4. กระทรวงนครบาล มีอำนาจหน้าที่จัดการในเรื่องความปลอดภัยในพระนคร ดูแลรักษาบัญชีพลดูแลเกี่ยวกับคุก
5.กระทรวงวัง มีอำนาจหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเรื่องในราชสำนักและพระราาชพิธีต่าง ๆ
6. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาการเก็บภาษีอากรและการเงิน ที่เป็นรายรับรายจ่ายของแผ่นดิน
7. กระทรวงเกษตรและพาณิชยการ มีอำนาจหน้าที่จัดการเรื่องเพาะปลูก การป่าไม้ การค้า รวมทั้ง
เรื่องโฉนดที่ดินซึ่งเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 5
8. กระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่จัดการเรื่องศาลทั้งปวง
9. กระทรวงยุทธนาธิการ มีอำนาจหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทหารบกและทหารเรือแบบยุโรป
10. กระทรวงธรรมการ มีอำนาจหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเรื่องศาสนา การศึกษา การพยาบาล และพิพิธภัญฑ์
11. กระทรวงโยธาธิการ มีอำนาจหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างต่าง ๆ ตลอดจนการไปรษณีย์
โทรเลขและรถไฟซึ่งเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 5
12. กระทรวงมุรธาธร มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาพระราชลัญจกรและหนังสือราชการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์


การบริหารราชการส่วนภูมิภาค
โปรดฯให้จัดระเบียบบริหารราชการหัวเมืองใหม่ ให้ยกเลิกเมืองพระยามหานคร ชั้นเอก โท ตรี จัตวา และหัวเมืองประเทศราช โดยจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาล ให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทยเพียงกระทรวงเดียว ปรากฎว่าในปี พ.ศ. 2449 ได้จัดแบ่งพระราชอาณาจักรออกเป็น 18 มณฑลดังนี้

1.มณฑลลาวเฉียงหรือมณพลพายัพ มีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง
2. มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มีศูนย์กลางอยู่ที่หนองคาย
3. มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มีศูนย์กลางอยู่ที่จำปาศักดิ์
4. มณฑลเขมร หรือมณฑลบูรพา มีศูนย์กลางอยู่ที่พระตะบอง
5. มณฑลลาวกลางหรือมณฑลราชสีมา มีศูนย์กลางอยู่ที่นครราชสีมา
6. มณฑลภูเก็ต มีศูนย์กลางอยู่ที่ภูเก็ต
7. มณฑลพิษณุโลก มีศูนย์กลางอยู่ที่พิษณุโลก
8. มณฑลปราจีนบุรี มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราจีนบุรี
9. มณฑลราชบุรี มีศูนย์กลางอยู่ที่ราชบุรี
10. มณฑลนครชัยศรี มีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม
11. มณฑลนครสวรรค์ มีศูนย์กลางอยู่ที่นครสวรรค์
12. มณฑลกรุงเก่า มีศูนย์กลางอยู่ที่อยุธยา
13. มณฑลนครศรีธรรมราช มีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช
14. มณฑลไทรบุรี มีศูนย์กลางอยู่ที่ไทรบุรี
15. มณฑลจันทบุรี มีศูนย์กลางอยู่ที่จันทบุรี
16. มณฑลปัตตานี มีศูนย์กลางอยู่ที่ปัตตานี
17. มณฑลชุมพร มีศูนย์กลางอยู่ที่ชุมพร
18. มณฑลกรุงเทพฯ มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
   
มณฑลกรุงเทพฯ ประกอบด้วย 6 เมืองได้แก่ พระนคร ธนบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครเขื่อนขันธ์ และสมุทรปราการ
 
ในปี พ.ศ. 2440 ทรงตราพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ขึ้น สำหรับจัดการปกครองในเขตอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ตามแผนภูมิดังนี้

 องค์กร  ผู้บังคับบัญชา
กระทรวงมหาดไทย
มณฑลเทศาภิบาล
เมือง    
แขวง (อำเภอ)  
ตำบล   
หมู่บ้าน
เสนาบดี
ข้าหลางเทศาภิบาลหรือสมุหเทศาภิบาล
ผู้ว่าราชการเมือง
หมื่น (นายอำเภอ)
พัน (กำนัน)
ทนาย (ผู้ใหญ่บ้าน)

การปรับปรุงกฎหมายและการศาล
โปรดฯ ให้รวบรวมศาลที่สังกัดกระทรวงและไม่สังกัดทั้งหมด มาขึ้นกับกระทรวงยุติธรรมนับว่าเป็นการแยกอำนาจ ตุลาการ ออกจาก ฝ่ายบริหารได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย สิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขทางด้านการศาลมีดังนี้ 

1. ศาลในกรุง
โปรดฯ ให้ตั้ง ศาลโปริสภา สำหรับทำหน้าที่เปรียบเทียบคดีความวิวาทของราษฎรที่เกิดขึ้นในท้องที่ และเป็นคดีที่มีโทษขนาดเบา ต่อมา ศาลโปริสภา ได้เปลี่ยนเป็น ศาลแขวง เมื่อ 1 ตุลาคม 2478
 
2. ศาลหัวเมือง
โปรดฯ ให้จัดตั้งกองข้าหลวงพิเศษ ขึ้นคณะหนึ่งมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) เป็นประธาน จัดการแก้ไขธรรมเนียมศาลยุติธรรมทั่วพระราชอาณาจักร ให้เป็นแบบเดียวกันทั้งหมด กองข้าหลวงพิเศษชุดนี้ มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการคือ
2.1 จัดตั้งศาลยุตธรรมสำหรับพิจารณาคดีขึ้นตามหัวเมืองทั้งปวงเสียใหม่
2.2 ชำระสะสางคดีความที่ค้างอยู่ในศาลตามหัวเมืองต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไป
 
3. จัดแบ่งชั้นของศาล
เพื่อให้ระเบียบการศาลยุติธรรมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อบเป็นหลักฐานมั่งคง ยิ่งขึ้น ก็โปรดฯให้ตราพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ขึ้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2451 โดยแบ่งศาลออกเป็น 3 แผนก คือ
3.1 ศาลฎีกา
3.2 ศาลสถิตย์ยุติธรรมกรุงเทพฯ
3.3 ศาลหัวเมือง
 
สิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขทางด้านกฎหมายมีดังนี้
 
1. ได้จ้างชาวต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษา เช่น
ดร. โรลัง ยัคมินส์ ชาวเบลเยี่ยม ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น เจ้าพระยาอภัยราชาสยามมานุกูลกิจ
นายโตกีจิ มาซาโอะ ชาวญี่ปุ่น ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น พระยามหิธรรมนูปกรณ์โกศลคุณ
นายวิลเลียม อัลเฟรด ติลเลเก ชาวศรีลังกา ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น พระยาอรรถการประสิทธิ์
 
2. ได้โปรดฯให้ตั้ง กองร่างกฎหมาย สำหรับทำหน้าที่ตรวจสอบชำระบรรดาพระราชกำหนดกฎหมาย
ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ ตัวบทกฎหมายที่ทันสมัยตามแบบอารยประเทศ โดยมีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นประธาน
 
3. ตั้งโรงเรียนสอนวิชากฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 โดยมีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวง ยุติธรรมเป็นผู้อำนวยการ ด้วยเหตุนี้ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ จึงได้รับการว่าเป็น พระบิดาแห่งกฎหมายและการศาลไทย
 
4. ยกเลิกการลงโทษแบบจารีตนครบาล จากผลการปฏิรูปการศาลและการชำระกฎหมายให้ทันสมัย ทำให้ การพิจารณาคดีแบบจารีตและวิธีลงโทษแบบป่าเถื่อนทารุณต่าง ๆ ได้ถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง
การทหาร
เริ่มการฝึกทหารตามแบบยุโรปเพื่อใช้ป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นการฝึกทหารเกณฑ์ แบบยุโรปเพื่อใช้เป็นทหารรักษาพระองค์เท่านั้น 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดฯ ให้ปรับปรุงกองทัพดังนี้
1. ปรับปรุงหน่วยทหารในกองทัพใหม่ จัดแบ่งออกเป็น กรม กอง เหล่า หมวด หมู่ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมจัดอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกันและปรับปรุงอาวุธยุทธภัณฑ์ วิธีการฝึกตลอดจนเครื่องแบบให้ทันสมัย
กำเนิดสถาบันกองทัพ
 
2. ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก ตั้งกรมเสนาธิการทหารบก ตั้งโรงเรียนแผนที่ ตั้งโรงเรียนนายเรือ
 
3. ส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาการทหารในทวีปยุโรป อาทิ
จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช จบจากอังกฤษ เป็นเสนาธิการ ทหารบกคนแรกของไทย
พลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จบจากอังกฤษ เป็นนักเรียน นายเรือพระองค์แรก
ของไทยและเป็นพระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย
 
4. ตราพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ 29 สิงหาคม 2448
 
5. สร้างเรือรบ อาทิ เรือพระที่นั่งจักรี เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง
 
6. สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย เพื่อป้องกันข้าศึกทางทะเลการตำรวจ
ขยายกิจการตำรวจนครบาล ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพระนคร
ตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้น เพื่อปราบปรามโจรผู้ร้ายและดูแลทุกข์สุข ของราษฎรในส่วนภูมิภาค
ตั้งกรมตำรวจภูบาลขึ้น เพื่อช่วยเหลือตำรวจภูธร
ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร ขึ้น ณ จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาย้ายมาตั้งอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จังหวัดนครปฐม

เศรษฐกิจ


1. การปรับปรุงระบบการคลัง แยกการคลังออกจากกรมท่า ให้กรมท่ามีหน้าที่ทางด้านการต่างประเทศ
เพียงอย่างเดียว ทรงตั้ง หอรัษฎากรพิพัฒน์ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416 ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์เพื่อเป็น
สำนักงานกลางเก็บผลประโยชน์ รายได้ภาษีอากรของแผ่นดินมารวมไว้ที่แห่งเดียว ต่อมาได้ยกฐานะ
หอรัษฎากรพิพัฒน์ ขึ้นเป็น กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2435
 
2. ตรากฎหมายกวดขันภาษีอากร โปรด ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสำหรับ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ขึ้นเมื่อ 4 มิถุนายน
2416 โดยวางหลักเกณฑ์การเรียกเก็บภาษีอากรให้ทันสมัยตามแบบสากล
 
3. การปรับปรุงระบบภาษีอากรแบบใหม่ พ.ศ. 2435 ทรงตั้งข้าหลวงคลังไปประจำทุกมณฑล เพื่อทำหน้าที่เก็บภาษีอากรจากราษฎรโดยตรง แล้วรวบรวมส่งไปยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
 
4. ยกเลิกระบบเจ้าภาษีนายอากร เปลี่ยนให้เทศาภิบาลเก็บภาษีเองเหมือนกันหมดทุกมณฑล
 
5. จัดทำงบประมาณแผ่นดิน ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2439 โดยแยกพระราชทรัพย์ของพระองค์ออกจากรายได้ของแผ่นดิน ตั้ง พระคลังข้างที่ ขึ้นสำหรับจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำหรับรายได้ภาษีอากรของแผ่นดิน ให้พระคลังมหาสมบัติเป็นผู้ควบคุมดูแล
 
6. จัดระบบเงินตราใหม่ โดยยกเลิกระบบเงินพดด้วง หน่วยเงิน เฟื้อง ซีก เสี้ยว อัฐ โสลฬ ตำลึง ชั่ง โดยสร้างหน่วยเงินขึ้นใหม่ ให้ใช้ เหรียญบาท เหรียญสลึง เหรียญสตางค์ กำหนดให้ 100 สตางค์ เท่ากับ 1 บาท พร้อมทั้งผลิตเหรียญสตางค์ทำด้วยทองคำขาวมี 4 ราคา ได้แก่ 20 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์และ 2 สตางค์ครึ่ง
 
7. ตราพระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ. 121 จัดพิมพ์ธนบัตรรุ่นแรก มีราคา 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาทและ 1000 บาท ต่อมาเพิ่มชนิด 1 บาท
 
8. เปลี่ยนมาตราฐานเงินมาเป็นมาตราฐานทองคำ ร.ศ. 127 เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2451 เพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไทยให้สอดคล้องกับหลักสากลทั่วไป
 
9. กำเนิดธนาคารแห่งแรก เดิมเรียกว่า บุคคลัภย์ Book Clup แล้วขอพระราชทานพระบราราชานุญาตจดทะเบียนเป็นบริษัทให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีชื่อว่า บริษัท แบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2482




มีการผลิตเงินพดด้วงเพียง ๒ ครั้งเพื่อใช้เป็นที่ระลึก ไม่ได้ทำออกใช้ทั่วไป มีตราประทับอยู่ดังนี้ ตราพระเกี้ยว ไม่ทราบแน่ชัดว่า ทำขึ้นกี่ขนาด ที่พบ มีขนาดหนึ่งบาท ตราพระเกี้ยวพานรอง และช่อรำเพย ทำขึ้นมีขนาด แปดสิบบาท สี่สิบบาท ยี่สิบบาท สิบบาท สี่บาท และสองบาท

การสาธารณูปโภค
 
กำเนิดการไฟฟ้า 
โดยมี จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นผู้ริเริ่มจำหนายไฟฟ้าและขยาย กิจการมาเป็น การไฟฟ้านครหลวงในปัจจุบัน
 
กำเนิดการประปา 
ใน เดือนกรกฎาคม 2452 ได้โปรดให้เริ่มดำเนินการสร้างประปาขึ้น โดยเก็บกักน้ำ ที่คลองเชียงราก จังหวัดปทุมธานี แล้วขุดคลองประปาสำหรับส่งน้ำเข้ามาจนถึงคลองสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกและอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้ราษฎรมีน้ำสะอาดใช้
 
กำเนิดโรงพยาบาลแห่งแรก 
ตั้ง อยู่ บริเวณริมคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี เดิมเรียก โรงพยาบาลวังหลัง ดำเนิน กิจการเมื่อ 26 เมษายน 2431 ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โรงศิริราชพยาบาล แต่คนทั่วไปชอบเรียกกันว่า โรงพยาบาลศิริราช 

กำเนิดโรงเรียนแพทย์
ใน โรงพยาบาลศิริราช เมื่อ 2432 เรียกว่า โรงเรียนแพทยากร ต่อมาเรียก ราชแพทยาลัย ภายหลังคือ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ของมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน
ตั้งสภาอุณาโลมแดง เนื่องจากกรณี พิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 มีทหารไทยบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงจัดตั้ง สภาอุณาโลแดงแห่งชาติสยาม ขึ้น เพื่อจัดหาทุนซื้อยาและเครื่องเวชภัณฑ์ ส่งไปบรรเทาทุกข์ทหารที่บาทเจ็บในสงครามครั้งนี้ ต่อมาได้ขยายกิจการช่วยเหลือกว้างขวางออกไปถึงประชาชนทั่วไปและภายหลังได้ เปลี่ยนชื่อเป็น สภากาชาดสยาม และเปลี่ยนเป็น สภากาชาดไทย ในปัจจุบัน
 
ตั้งกรมสุขาภิบาล ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2440 เพื่อดูแลรักษาความสะอาด กำจัดกลิ่นเหม็น ควบคุมโรคติดต่อต่าง ๆ ให้ราษฎรมีสุขภาพอาณามัยที่ดี แล้วขยายไปยังส่วนภูมิภาค โดยทดลองจัดการสุขาภิบาลหัวเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครเมื่อ พ.ศ. 2448 ครั้นกิจการสุขาภิบาลได้ผลดี เป็นที่น่าพอใจ ในปี พ.ศ. 2451 ได้จัดการสุขาภิบาลหัวเมืองขึ้นทั่วไปมีอยู่ 2 ประเภทคือ สุขาภิบาลเมือง และ สุขาภิบาลตำบล ต่อมาได้กลายเป็นเทศบาล
 
จัดตั้ง โอสถศาลารัฐบาล 
เพื่อ เป็นสถานประกอบการและผลิตยาสามัญประจำบ้าน ส่งไปจำหน่ายแก่ราษฎร ชาวบ้านเรียกว่า ยาโอสถสภา ต่อมาเปลี่ยนมาเรียกว่า ยาตำราหลวง

การคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร

กำเนิดการรถไฟ
สร้างทางรถไฟหลวงสายแรก กรุงเทพฯ – อยุธยา เมื่อ 26 มีนาคม 2439และขยายกิจการไป ทั่วทุกภูมิภาค
เริ่มกิจการรถรางในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2430
เริ่มกิจการไปรษณีย์ โปรดฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์ เมื่อ 4 สิงหาคม 2426
เริ่มกิจการโทรเลข โทรเลขสายแรกคือกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ. 2412
ต่อมาได้รวมกิจการไปรษณีย์โทรเลขเข้าด้วยกัน เรียกว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข
เริ่มกิจการโทรศัพท์ เมื่อปี พ.ศ. 2424



ด้านศาสนา



การสร้าง บูรณะ และปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม
วัดที่สร้างในรัชกาลนี้ ได้แก่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดเทพศิรินทราวาส วัดราชาธิวาส (รื้อและสร้างใหม่ทั้งหมด) นอกจากนี้ยังสร้างตามหัวเมือง เช่น วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ที่บางประอิน จังหวัดอยุธยา วัดอัษฎางคนิมิตร และวัดจุฑาทิศธรรมสภาราม ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี
 
การชำระและพิมพ์พระไตรปิฎก ในรัชกาลนี้ทรงสร้างพระไตรปิฎก “ฉบับทองทึบ” ด้วยคัมภีร์ใบลาน เหมือนอย่างกษัตริย์ในอดีตและยังโปรดฯ ให้สร้าง พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์
ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์

กำเนิดสถาบันการศึกษาสำหรับสงฆ์ คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ วัดมหาธาตุฯ และ มหามกุฏราชวิทยาลัย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ได้พระบรมสารีริกธาตุจากอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2442 นำมาไว้ที่พระเจดีย์ทองสัมฤทธิ์ ในคูหาพระสถูป บนยอดพระบรมบรรพต วัดสระเกศฯ

ได้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย นำมาปลูกไว้ ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ต้นหนึ่ง และที่วัดอัษฎางคนิมิตร เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรีต้นหนึ่ง
นอกจากนี้ยังบำรุงศาสนาอื่น ๆ อาทิ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ สร้างมัสยิด ให้ศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ อนุญาต ให้บาทหลวงมีสิทธิ์หาซื้อที่ดินสร้างโบสถ์ ของคริสตศานานิกายโรมัยคาทอลิก และพระราชทานเงิน 1,000 เหรียญดอลลาร์ ให้คณะมิชชันนารีสร้างโรงเรียน ของศาสนาคริสตนิกายโปรเตสแตนท์









ด้านศิลปและวัฒนธรรม

การเปลี่ยนแปลงประเพณี

การสืบราชสันตติวงศ์ เดิมการสืบราชบัลลังก์จะใช้ตำแหน่ง พระมหาอุปราช หรือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) สืบราชสันตติวงศ์จากพี่ไปหาน้อง ทรงเปลี่ยนมาเป็นจากพ่อไปหาลูก โดยยกเลิกตำแหน่ง พระมหาอุปราช หรือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เสีย แล้วตั้งตำแหน่ง มกุฎราชกุมาร ขึ้นแทน ผู้ได้รับการสถาปนาให้เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกคือ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (สิ้นพระชนม์ เมื่อพระชันษาได้เพียง 17 ปี) ต่อมาจึงโปรดให้สถาปนาเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 6)

เลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้า เปลี่ยนมาเป็นให้ยืนหรือนั่งเก้าอี้แทนและใช้ถวายคำนับตามแบบฝรั่งแสดงความเคารพ

เปลี่ยนทรงผม โดยแต่เดิมชายไทยไว้ทรงหลักแจว (มหาดไทย) มาเป็นทรงสากล ผู้หญิงเดิมไว้ผมปีก (ผมทัด) เปลี่ยนมาไว้ผมยาว

เปลี่ยนประเพณีการแต่งกาย
เริ่มมีการสวมถุงเท้ารองเท้า ใส่เสื้อนอกมีผ้าผูกคอ หรือแต่งเครื่องแบบเวลาเข้าเฝ้า ออกแบบชุดข้าราชการที่เรียกว่า เสื้อราชแปตแตน Raj Pattern ต่อมาเรียกว่า ราชปะแตนท์ อันแปลว่าแบบหลวง นุ่งผ้าสีม่วงโจงกระเบนตามแบบไทยเดิม
 
เปลี่ยนแปลงการใช้ศักราช โดยเลิกใช้จุลศักราชมาเป็นรัตนโกสินทรศักราช โดยเริ่มนับ พ.ศ. 2325 เป็น ร.ศ. 1
 
เริ่มใช้วันทางสุริยคติในทางราชการ โดยใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ส่วนวันทางพุทธศักราชยังคงใช้วัน ตามจันทรคติแบบเดิมคือให้ใช้ วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่
 
เลิกประเพณีโกนผมไว้ทุกข์ แต่เดิมเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต ราษฎรต้องโกนผมไว้ทุกข์และนุ่งขาวหมด พระองค์โปรดฯให้ยกเลิกเสีย คงแต่ให้แต่งกายไว้ทุกข์ตามขนบประเพณี

การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา
กำเนิดโรงเรียนหลวง ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง บริเวณพระตำหนักสวนกุหลาบ มีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ จึงเรียกชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ต่อมากิจการขยายใหญ่ขึ้นกลายมาเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ปัจจุบันคือจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
โปรดฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เรียบเรียงแบบเรียนหลวง 6 เล่ม ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์
 

กำเนิดโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรก ณ วัดมหรรณพาราม ตำบลเสาชิงช้า กรุงเทพฯ
ตั้งกระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน
 

ปรับปรุงหลักสูตร โดยประกาศเลิกใช้แบบเรียนหลวง 6 เล่มของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) มาใช้แบบเรียนเร็วของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แทน และประกาศใช้โครงการศึกษาสำหรับชาติ ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2441
 

ตั้งโรงเรียนบำรุงสตรีวิชา นับว่าเป็นโรงเรียนสตรีของรัฐบาลโรงเรียนแรก
กำเนิดโรงเรียนฝึกหัดครู หรือโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โดยมีสถานที่เรียน ณ บ้านสมเด็จเจ้าพระยา และต่อมาได้กำเนิด สามัคยาจารย์สมาคม ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2445
กำเนิดการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง หรือที่เรียกว่า คิงสกอลาชิป



ลักษณะสังคมของไทย
สังคมของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการแบ่งชนชั้นออกเป็น 4 ประเภทคือ
(1) เจ้านาย    (2) ขุนนาง หรือ ข้าราชการ  (3) ไพร่ หรือ สามัญชน  (4)  ทาส
 
1. เจ้านาย 
คือ ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพระมหากษัตริย์ แต่มิได้หมายความว่าผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพระมหากษัตริย์ทุกคนจะเป็นเจ้า นายหมด ลูกหลานของพระมหากษัตริย์จะถูกลดสกุลยศตามลำดับ และ ภายใน 5 ชั่วคน ลูกหลานของเจ้านายก็จะกลายเป็นสามัญชน 

ราชสกุลยศจะมีเพียง 5 ชั้นคือ เจ้าฟ้า เป็นชั้นสูงสุด เจ้าฟ้าคือ พระโอรส ธิดาของพระมหากษัตริย์อันประสูติจากอัครมเหษี
 
พระองค์เจ้า คือ พระโอรส ธิดาของพระมหากษัตริย์อันประสูติแด่พระสนม หรือเป็นพระโอรส ธิดาของเจ้าฟ้า
หม่อมเจ้า คือ พระโอรส ธิดา ของพระองค์เจ้า
หม่อมราชวงศ์ คือ บุตรธิดาของหม่อมเจ้า
หม่อมหลวง คือ บุตรธิดาของหม่อมราชวงศ์
 
พอถึงชั้นหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวง ก็ถือว่าเป็นสามัญชนแล้วมิได้มีสิทธิพิเศษเช่นเจ้านายชั้นสูงแต่อย่างใด

เพื่อเฉลิมพระเกียรติและตอบแทนเจ้านายที่ได้ทำความดีความชอบในราชการ พระมหากษัตริย์ จะทรงแต่งตั้งเจ้านายนั้น ๆ ให้ทรงกรม ซึ่งมีลำดับขั้นเหมือนกับยศของขุนนางดังนี้
ชั้นสูงสุดคือ กรมพระยา กรมพระ กรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น ตามลำดับ
เจ้านายชั้นเจ้าฟ้า ถ้าได้ทรงกรมจะเริ่มตั้งแต่ กรมขุน ขึ้นไป ตั้งแต่พระองค์เจ้าลงมาเมื่อได้ทรงกรม จะต้องเริ่มตั้งแต่ กรมหมื่น
 
สิทธิ พิเศษของเจ้านายคือ เมื่อเกิดมีคดี ศาลอื่น ๆ จะตัดสินไม่ได้นอกจากศาลกรมวัง และจะขายเจ้านายลงเป็นทาสไม่ได้ เจ้านายจะไม่ถูกเกณฑ์แรงงานด้วยประการใด ๆ
 
2. ขุนนาง หรือ ข้าราชการ 
ยศของขุนนางเรียงลำดับจากขั้นสูงสุดลงไปดังนี้
สมเด็จเจ้าพระยา
เจ้าพระยา
พระยา
พระ
หลวง
ขุน
หมื่น
พัน
ทนาย
พระมหากษัตริย์จะพระราชทานยศและเลื่อนยศ ให้ตามความดีความชอบ นอกจากยศแล้วพระมหากษัตริย์ยังพระราชทานราชทินนามต่อท้ายยศให้ขุนนางด้วย ราชทินนามจะเป็นเครื่องบอกหน้าที่ที่ได้ เช่น เจ้าพระยามหาเสนา พระยาจ่าแสนยากร มักจะเป็นขุนนางฝ่ายทหาร เจ้าพระยาจักรี พระยาธรรมา พระยาพลเทพ พระยาพระคลัง เป็นขุนนางฝ่ายพลเรือน สิทธิพิเศษของขุนนางคือไม่โดยเกณฑ์แรงงาน

และ สิทธินี้ครอบคลุมไปถึงผู้เป็น ลูกด้วย ขุนนางที่มีศักดินาตั้งแต่ 400 ไร่ขึ้นไป มีสิทธิแต่งตั้งทนายว่าความให้ในศาล ได้เข้าเฝ้า และมีสิทธิ์มีไพร่อยู่ในสังกัดได้
 
3. ไพร่ หรือสามัญชน
หมายถึง ผู้ชายที่มีอายุ 18 – 60 ปี ชายฉกรรจ์ที่เป็นสามัญชนจะต้องสักเลก เพื่อสังกัดเจ้านายหรือขุนนางคนใดคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า มูลนาย หากผู้ใดขัดขืน มิยอมสังกัดมูลนาย หรือไปรายงานตัวเป็นไพร่ จะมีโทษและจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย เช่นไม่มีสิทธิ์ในการถือครองที่ดินทำกิน จะฟ้องร้องใครไม่ได้ ไพร่มี 3 ประเภทดังนี้

3.1 ไพร่สม คือ ชายที่มีอายุ 18 – 20 ปี สังกัดมูลนายที่เป็นเจ้านายและขุนนางเพื่อให้ฝึกหัดใช้งาน
 
3.2 ไพร่หลวง คือ ชายที่มีอายุ 20 – 60 ปี มีหน้าที่รับราชการแผ่นดิน ตามการเกณฑแรงงานตามสมัยแต่ถ้ามีลูกเข้าเกณฑ์แรงงานแทนตนถึง 3 คน ก็จะไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานให้ปลดออกจากราชการได้ก่อนอายุ 60 ปี
 
3.3 ไพร่ส่วย คือ ชายที่มีอายุ 20 – 60 ปี ที่ไม่ประสงค์เข้ารับราชการ โดนเกณฑ์แรงงาน รัฐบาลอนุญาตให้นำเงินหรือสิ่งของมาชำระแทนแรงงานได้ เรียกเงินหรือสิ่งของที่ใช้แทนแรงงานว่า ส่วย หรือเงินค่าราชการ

4. ทาส 

มีอยู่ 7 ประเภทดังนี้
4.1 ทาสสินไถ่ คือ ทาสที่ขายตัวเองหรือถูกผู้อื่นขายให้แก่นายเงินต้องทำงานจนกว่าจะหาเงินมา ไถ่ค่าตัวได้ จึงจะหลุดพ้นเป็นไท
 
4.2 ทาสในเรือนเบี้ย คือ ลูกของทาสที่เกิดมาในเวลาที่พ่อ แม่กำลังเป็นทาสอยู่
 
4.3 ทาสได้มาแต่บิดามารดา คือ ลูกทาสที่ได้จากพ่อหรือแม่ของเด็กที่เป็นทาส
 
4.4 ทาสท่านให้ คือ ทาสที่เดิมเป็นของผู้หนึ่งแล้วถูกยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของอีกผู้หนึ่ง
 
4.5 ทาสที่ช่วยมาจากทัณฑโทษ คือ ผู้ที่ถูกต้องโทษต้องเสียค่าปรับแต่ไม่มีเงินให้ แล้วมีนายเงินเอาเงิน  มาใช้แทนให้ ผู้ต้องโทษก็ต้องเป็นทาสของนายเงิน
 
4.6 ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย คือ ในเวลามีภัยธรรมชาติทำให้ข้าวยากหมากแพง ไพร่บางคน อดอยากไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ต้องอาศัยมูลนายกิน ในที่สุดก็ต้องยอมเป็นทาสของมูลนายนั้น
 
4.7 ทาสเชลยคือ ทาสที่ได้มาจากการรบทัพจับศึกหรือการทำสงคราม เมื่อได้ชัยชนะจะต้อน ผู้แพ้สงครามมาเป็นทาส

7 ความคิดเห็น: